ต่ออายุใบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ(ร้านสัก) | ช่วงโควิด-19ระบาด

ใบอนุญาตกิจการร้านสัก  หรือชื่อเต็มๆคือ  “ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” นั่นเอง

มีอายุ 1 ปีถ้วนและต้องทำการต่ออายุอยู่เรื่อยๆ  และทุกๆครั้งของการขอต่ออายุก็ต้องมีการประเมินอยู่ทุกปีเช่นกัน

ถือเป็นปกติของแทบทุกกิจการที่ต้องมีใบอนุญาตในการทำกิจการต่างๆ  ถึงจะเรียกว่ากิจการนั้นเป็นกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมายนะ

ซึ่งไม่กี่วันมานี้  เราก็ได้ทำการยื่นขอต่ออายุกิจการเป็นปีที่3  และได้รับการประเมินให้ผ่านเป็นที่เรียบร้อย

….

ในการขอใบอนุญาตกิจการไม่ใช่เพียงเพื่อยืนยันว่าเราได้เสียภาษีที่ถูกต้องเท่านั้น

แต่ยังบ่งบอกถึงคุณภาพในการบริการ  ความปลอดภัย  และสุขอนามัยของกิจการนั้นๆอีกด้วย

และทีนี้ก็มาพูดถึงข้อกำหนดของร้านสักกันบ้างดีกว่า

ว่ามีอะไรที่จะต้องเตรียมพร้อมและรับทราบไว้กันหากถูกลูกค้าทวงถามถึงเรื่องของใบอนุญาต

1.พื้นที่สัก

ต้องเป็นพื้นที่มีผนังและหลังคาปิดมิดชิด  สะอาดและสะดวกในการปฎิบัติงาน

2.อุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย

ต้องมีถังดับเพลิงสำรองในขนาดที่เหมาะสมเตรียมไว้ ภายในสถานที่ปฎิบัติงาน

พร้อมด้วยช่องทางหนีภัยฉุกเฉินและสัญลักษณ์กำกับ

3.ขยะติดเชื้อ

อุปกรณ์ทุกอย่างที่มีการสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือแม้แต่กระดาษชำระที่ใช้เช็ดเลือด

ต้องจัดการให้ถูกต้อง และปลอดภัยต่อตัวลูกค้าและตัวช่างสักเองด้วย

เช่น กล่องสำหรับทิ้งเข็มที่ใช้แล้ว   ถังขยะที่มีสัญลักษณ์บ่งบอกว่าทิ้งเฉพาะขยะปนเปื้อน

และทำการกำจัดทิ้งอย่างถูกต้องเหมาะสม  โดยการติดต่อหน่วยงานที่รับกำจัดขยะติดเชื้อโดยตรง

ห้ามให้มีการทิ้งรวมกับขยะทั่วๆไปเด็ดขาด

ซึ่งต้องมีเอกสารการทิ้งขยะเหล่านั้นเป็นรายลักษณ์อักษรด้วยนะ  ไม่สามารถพูดปากเปล่าได้

นี่คือเรื่องยากที่สุดที่ต้องเตรียม หากคุณดำเนินเรื่องกับหน่วยงานรัฐบาล

(หากอยากจบเรื่องไวแนะนำให้ติดต่อหน่วยงานเอกชน แต่ก็แลกมาด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายรายปีที่ค่อนข้างสูง)

4.การปฎิบัติงานของช่างสัก 

ช่างต้องมีการป้องกันตัวเองจากเลือด และสารคัดหลั่งจากลูกค้า  ในขณะปฎิบัติงาน เช่น ชุดคลุม  ถุงมือ หน้ากากอนามัย

รวมถึงกล่องปฐมพยาบาลที่ต้องซื้อติดร้านไว้ในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บขึ้นด้วย  ไม่มีกล่องนี้ประเมินไม่ผ่านแน่นอน หุหุ

5.สุขอนามัย  

พื้นที่ปฎิบัติงานต้องมีอ่างล้างมือและห้องสุขาไว้บริการลูกค้า  โดยต้องอยู่ภายในสถานที่ปฏิบัติงานด้วย  พูดง่ายๆก็คือ ในร้านสักนั้นต้องมีห้องน้ำห้องท่าและมีป้ายติดชัดเจนให้แก่ลูกค้า

 


สรุป

นี่ก็คือข้อกำหนดจำเป็นที่ร้านสักต้องเตรียมให้พร้อม ในการขอรับการประเมินจากหน่วยงานรัฐบาลในสถานการณ์ปกติเท่านั้น

แล้วช่วงนี้ล่ะปกติไหม

ก็อาจจะปกติก็ว่าได้ อ้างอิงจากวันที่เขียนบล็อกนี้ขึ้นมาคือวันที่12มิถุนายน 2563

ผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19ในไทยลดน้อยลงมากๆ

ถือว่าสถานการณ์อยู่ในระดับที่ทางการควบคุมได้แล้ว

แต่…แต่บอกเลยว่าเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อที่มีไม่ถึง10คนในแต่ละวัน

มาตรการป้องกันกับร้านค้าและกิจการบริการก็ยังมีความเข้มงวดอยู่มากๆ

ส่งผลให้เราต้องปรับตัวหนักอยู่เหมือนกัน…เอาจริงๆปีนี้เล่นเอาเหนื่อยเลยล่ะ

มาดูกันว่าเราปรับตัวกันอย่างไรบ้าง

1.รักษาระห่าง  SOCIAL  DISTANCING  

ด้วยการติดป้ายบริเวณที่รับรองแขก  นั่งห่างกันอย่างน้อย1เมตร  และรวมไปถึงการจำกัดจำนวนลูกค้าที่รับได้ในแต่ละวันด้วย

พูดตามตรงนะร้านสักอย่างเราไม่ได้มีพื้นที่กว้างอะไรขนาดนั้น  การที่จะรักษาระยะปลอดภัยไว้ได้  ร้านเราจำเป็นต้องลดจำนวนลูกค้าลง

เหลือแค่ วันละไม่เกิน2-3คนเท่านั้นเอง(รวมถึงงดการนำผู้ติดตามมาสักด้วย)

2.ต้องจองเท่านั้น  RESERVATION  ONLY 

เพื่อเป็นการลดการเข้าไปแออัดในสถานที่แคบๆเป็นระยะเวลานาน การสักในตอนนี้ต้องจองเท่านั้นถึงจะปลอดภัย

และตอนนี้บอกเลยหากคุณอยากจะวอร์ค-อินไปสักล่ะก็…

มีโอกาสแห้วค่อนข้างสูง…

ซึ่งเราชาวสโตรคเกอร์ ก็คือ1ในร้านที่ต้องทำการจองก่อนสักเท่านั้น

3.ลูกค้าต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดการสัก  

มันยากใช่ไหมล่ะครับ  ซึ่งเราก็ทราบดีและพยายามจะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ

เพื่อความปลอดภัยต่อส่วนรวมแล้วมันจำเป็นที่ต้องทำครับ

ระหว่างสัก ต้องทนกับความเจ็บ ไหนจะอึดอัดกับการใส่หน้ากาก นี่คงเป็นอะไรที่ทรมานลูกค้ามากโขอยู่

และเราก็เข้าใจลูกค้าเป็นอย่างดี   ทำได้แค่ค่อยๆทำไปและให้กำลังใจช่วยให้ทนจนจบงานกันไปครับ

……

สุดท้ายแล้วก็คือร้านต้องเข้มงวดกับการรักษาความสะอาดภายในร้านมากขึ้นเท่าตัว

ทุกวันก่อนเปิดร้านมีการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ   อุปกรณ์ในการสักทุกอย่างต้องสะอาดและพร้อมใช้งาน

เตรียมหน้ากาก น้ำยาล้างมือ ที่วัดอุณหภูมิให้พร้อมก่อนลูกค้าคนแรกจะเดินเข้าร้าน

ซึ่งมันก็คงต้องเป็นแบบนี้ไปนานพอตัว จะบ่นว่าเหนื่อยมันคงไม่เกิดประโยชน์อะไร

และสักวันเราคงชินไปเองแล้วก็กลายเป็น  New Normal Life ของเราไป   ///สู้ๆไปด้วยกันครับ

 

 

 

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.